แนวโน้มเศรษฐกิจ ทิศทางลงทุนปี 64

โดย SET
10 Min Read
21 มกราคม 2564
15.303k views
20210121_investment_outlook_thumbnail_social
In Focus
  • มุมมองการลงทุน 2564 ทั้งภาพรวม เศรษฐกิจโลก-ไทย จะฟื้นจากโควิดได้อย่างไร ?

  • มีปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตา มองหุ้นไทย เฟ้นหุ้นเด่น หมวดไหนดี

  • จัดพอร์ตหุ้นไทย – ต่างประเทศ จาก 4 นักวิเคราะห์ยอดเยี่ยมที่เพิ่งได้รับรางวัลจากสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนประจำปี 2563

20210114-SET-ทิศทางลงทุนปี64-Revised2-01
Quote

"หุ้นไทยยังไม่ฟองสบู่ ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าต่อเนื่อง"
(เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม Head of Research บล.เอเซีย พลัส นักกลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐานยอดเยี่ยม ประเภทนักลงทุนสถาบัน ประจำปี 2563)

ภาพเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแต่จะมีการลดคาดการณ์จีดีพีลงตามผลกระทบกับโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งราคาหุ้นกลับวิ่งสวนทาง เนื่องจากยังมีสภาพคล่องส่วนเกินที่เยอะอยู่ทั้งระดับโลกและในประเทศเอง ประกอบกับนักลงทุนคาดหวังเชิงบวกในรอบเวลาที่จะได้รับวัคซีนรักษาโควิด-19 และเชื่อว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังไม่ใช่ฟองสบู่ ที่ทำให้มองเช่นนี้ เพราะ SET ขึ้นสวนทางกับภาพเศรษฐกิจจริง เนื่องจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นกับสินทรัพย์อื่นกรอบกว้าง ทำให้เม็ดเงินไหล (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้า ซึ่งนักลงทุนจะมองราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) อย่างเดียวไม่ได้ อีกทั้ง SET ถูกดันด้วยหุ้นบางตัวที่ฟรีโฟลตไม่มาก ถ้าตัดประเด็นนี้ พี/อี ตลาดอยู่ในระดับต่ำ

 

“SET จะปรับลงในกรอบที่จำกัด เพราะมีหุ้นบางอุตสาหกรรมราคาดีดตัวขึ้นไป เช่น กลุ่มพลังงาน แต่มีความเสี่ยง 2 อย่างที่ต้องจับตา คือ การไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไร และความสามารถในการกู้เม็ดเงินมาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง เพราะวินัยการคลังกู้ได้ไม่เกิน 60 % ของจีดีพี และเหลือวงเงินกู้ไม่เยอะเพียง 1.7 ล้านล้านบาท จุดหนึ่งหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดี ยังมีข้อจำกัดการใช้เม็ดเงิน และโควิด-19 ไม่จบอย่างที่คิดก็จะยิ่งจะเพิ่มปัญหาให้ร้อนแรงอีกได้”

 

ทั้งนี้ มองว่า ฟันด์โฟลว์พร้อมไหลเข้าต่อเนื่อง เพราะส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นกับการลงทุนในตราสารหนี้ยังอยู่ในกรอบที่กว้าง และเชื่อว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งฟันด์โฟลว์ไหลเข้า SET 2-3 เดือนที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะปัจจุบันอัตราการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศเหลือเพียง 20 % จากเดิมระดับ 30 %  

 

สัดส่วนการลงทุน แบ่งเป็น 40 % เป็นหุ้นไทย 20 % เป็นหุ้นต่างประเทศ เน้นน้ำหนักตลาดหุ้นเอเชียอย่าง เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น อีกกว่า 10 % เป็นตราสารการลงทุนทางเลือกอื่นที่เป็นไฮบริด และที่เหลืออีกกว่า 10 % แนะให้ถือเงินสดหรือพักเงินที่ตลาดเงินเพื่อรอภาพชัดเจนค่อยใส่เงินเข้าลงทุนได้ทันที ธีมการลงทุน กลุ่มหุ้นที่ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นน้อย (Laggard) และมีโอกาสปรับขึ้นช่วงไตรมาส 1 และจ่ายปันผลดี DCC AP และ ADVANC กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปีก่อนยกการ์ดตั้งสำรองสูง แต่ราคาหุ้นแบงก์ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (Book Value) ถึง 30-40 % รวมถึงหุ้นใหญ่ที่มีการเติบโตและรายได้มั่นคงอย่าง GULF และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ PTT ที่ราคายังขึ้นน้อยกว่าตัวลูก

20210114-SET-ทิศทางลงทุนปี64-Revised2-02
Quote
"ครึ่งปีแรกหุ้นเป็นบวกเชิงจิตวิยา จับตาครึ่งปีหลังขึ้นกับปัจจัยพื้นฐาน"
(กรภัทร วรเชษฐ์ Head of Research บล.โนมูระ พัฒนสิน นักกลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐานยอดเยี่ยม ประเภทนักลงทุนรายบุคคล ประจำปี 2563)

ครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันหรือ K Shape โดยตลาดเกิดใหม่จะฟื้นตัวดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่กลุ่มเอเชียเหนือ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน จะฟื้นตัวก่อนฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฟื้นตัวช้า และการมาของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐทำให้ภาพการลงทุนเป็นบวก และเชื่อว่าเป้าการลงทุน 2564-2565 คือกลุ่มเอเชียเป็นหลัก

 

SET ครึ่งปีแรกจะเป็นปัจจัยเชิงจิตวิทยา (Sentiment) แต่ครึ่งปีหลังจะเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก เหตุผลเดียวที่ทำให้ไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ได้คือ ผลเสียหายจากวิด-19 ที่ต้องรอการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว หรือครึ่งปีหลัง 2564 เป็นต้นไป เพราะต้องรอการกระจายวัคซีน โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าและเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปี 2565

 

ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกบรรยากาศการลงทุนมีโมเมนตัมเป็นบวกมีแรงหนุนจากประเทศจีน แต่ต้องดูการกระจายวัคซีนช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของประเทศที่พัฒนาแล้วและเอเชียเหนือว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ขนาดไหน หรือช่วยฟื้นภาพเศรษฐกิจอย่างไร แม้ครึ่งปีแรกภาพการลงทุนอยู่บนความคาดหวังและเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ ครึ่งปีหลังจะเกิดคาดหวังกับการเติบโตที่มองว่าปัจจัยพื้นฐานจะสามารถมารองรับได้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นตามเป้า และทิศทางเงินเฟ้อไม่ขยับขึ้น ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการขายทำกำไรได้

 

“สิ่งที่ต้องจับตาของไทยอยู่ที่การคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และการล็อกดาวน์เพราะมีผลกับใช้เม็ดเงินประคองเศรษฐกิจ และ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทจะหมดกลางปีนี้ ถ้าเศรษฐกิจยังดำดิ่ง หรือภาระหนี้ยังไม่ได้แก้เป็นระบบ อาจทำให้เกิดภาพเป็นแผลได้ จึงต้องติดตามดูนโยบายการคลังและนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง เพราะครึ่งหลังปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแต่กว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้นคือปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 เป็นต้นไป”

 

น้ำหนักการลงทุนแบ่งเป็นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ 55-65 % แบ่งเป็นตลาดหุ้นไทย 40 % ตลาดหุ้นต่างประเทศ 10-15 % ตราสารหนี้ 20 % และกระจายไปสินทรัพย์ทางเลือกประเภททองคำหรือกองทุน REIT กรอบดัชนีปีนี้ 1,300-1,680 จุด ดัชนีเป้าหมาย 1,650 จุด  ครึ่งปีแรกภาพการลงทุนหุ้นกลุ่มวัฎจักรและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีในต่างประเทศมากกว่าไทย แต่นักลงทุนสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้

 

ธีมการลงทุนเน้นเกี่ยวข้องพลังงานสะอาด แนะนำ GULF กลุ่มอุตสาหกรรมอิงวัฎจักรในระยะยาวที่ได้ประโยชน์การใช้น้ำมันที่ต่ำลง หรือฟื้นตัวได้ดีในครึ่งปีแรกอย่าง TOP กลุ่มแพ็กเกจจิ้ง SCGP ที่เติบโตไปกับอีคอมเมิร์ซ หรือปิโตรเคมี VNT และเลือกการลงทุนเลือกหุ้นที่มีโอกาสของการฟื้นตัวเร็วในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตชิพหรือกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์อย่าง KCE หรือจากภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแบบ U Shape ที่ดอกเบี้ยนโยบายจะมีการลดลงอีก 1-2 ครั้งในไตรมาส 1 แนะนำ SAWAD ที่มีรายได้ในกรอบสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนทั้งต่ำและสูง รวมถึง CPALL

20210114-SET-ทิศทางลงทุนปี64-Revised2-03
Quote
"วัคซีนคือตัวชี้วัดความเสี่ยงที่แท้จริงของเศรษฐกิจ เน้นหุ้นรายตัว"
(สุกิจ อุดมศิริกุล Head of Research บล.ไทยพาณิชย์ ทีมวิเคราะห์การลงทุนยอดเยี่ยม ประเภทนักลงทุนสถาบัน ประจำปี 2563)

ปีนี้ตัวเลขต่างๆ ยังไม่นิ่ง เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจเงื่อนไขหลักมาจากปัจจัยจากโควิด-19 ที่เป็นตัวกดดันหลัก ขณะที่วัคซีนเป็นตัวช่วยผ่อนคลาย และมาตรการที่ออกมาจะเป็นตัวรองรับความเสียหาย โดยต่างหวังว่าวัคซีนจะเข้ามาควบคุมให้อยู่ในระดับที่การแพทย์สามารถเข้ามาดูแลได้และทำให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ ซึ่งถ้าผลของวัคซีนไม่สามารถคุมได้ จะถือเป็นความเสี่ยงที่แท้จริงของเศรษฐกิจ

 

นโยบายการเงินสหรัฐและยุโรปเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ขณะที่มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ยังได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อน และสิ่งที่ต้องจับตาซึ่งที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นคือ ฟันด์โฟลว์ในช่วงครึ่งปีแรก และปัจจัยพื้นฐานที่จะต้องติดตามดูในครึ่งปีหลัง

 

“100 วันแรกหลังจากที่โจ ไบเดน จะรับตำแหน่งประธานาธิบดีภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ จะเป็นช่วงประกาศนโยบายซึ่งมีผลเชิงบวกและลบได้เสมอ เพราะจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและฟันด์โฟลว์ รวมถึงผลกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปัจจุบันเริ่มทะลุ 1% และถือว่ามีผลต่อการลงทุนเพราะถือเป็นตัวแทนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และไม่เชื่อว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยได้นาน 2-3 ปี อีกทั้งไม่เชื่อว่าสหรัฐกับจีนจะสงบศึกได้ จากบทเรียน Trade War แต่ถือว่าเป็นโอกาสกระแสการลงทุนในหุ้น ESG คือให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี”   

 

กลยุทธ์การลงทุนปีนี้ เน้นเลือกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือรายตัว โดยดัชนีพื้นฐานอยู่ที่ 1,500 จุด เพราะถ้าเกินกว่านี้เป็นเรื่องความคาดหวังและสภาพคล่อง ซึ่งต้องเป็นเรื่องกลยุทธ์การลงทุนมากกว่าอธิบายปัจจัยพื้้นฐาน ครึ่งปีแรกหุ้นไทยยังสดใสลงทุนได้ แต่ควรมีการบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศอย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีระดับโลก ขณะที่ครึ่งปีหลัง SET จะแกว่งตัวมากขึ้น เพราะหุ้นจะถูกแยกด้วยปัจจัยพื้นฐานที่มารองรับมากขึ้น

 

ธีมการลงทุนเป็นที่เน้นได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) แนะ 10 ตัว ที่มีความแข็งแกร่งในแต่ละอุตสหากรรมแบ่งเป็นหุ้น กลุ่มโรงพยาบาล BDMS เทรนด์โลกพลังงานสะอาดอย่าง EA หุ้นที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 อย่าง MINT แต่ปรับตัวเก่งและมีการเงินแกร่ง กลุ่มแพกเกจจิ้งอย่าง SCGP ที่มีเรื่องราว M&A ทำให้ที่เติบโตต่อเนื่อง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง SPALI เติบโตท่ามกลางพลิกผันทำบ้านเดี่ยว การเงินแกร่ง ปันผลที่ดี ส่วนหุ้นขนาดเล็ก IIG ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น หุ้นด้านโภชนบำบัด IP ที่ตอบโจทย์กระแสสุขภาพ หุ้น THREL ธุรกิจประกันที่เติบโตรุนแรง หุ้น TNP กลุ่มค้าปลีกต่างจังหวัดที่ยอดขายสาขาเดิมยังดีจากนโยบายภาครัฐ และกลุ่มโลจิสติกอย่าง WICE ที่เติบโตต่อเนื่องปีนี้

20210114-SET-ทิศทางลงทุนปี64-Revised2-04
Quote
"ภาพการลงทุน 2564 ยังดี จับตาความเสี่ยงปีหน้า"
(ภาสกร ลินมณีโชติ Head of Research บล.กสิกรไทย ทีมวิเคราะห์การลงทุนยอดเยี่ยม ประเภทนักลงทุนสถาบัน ประจำปี 2563)

ภาพการปรับลดลงของจีดีพีโลกและไทยไม่มีผลต่อภาคการลงทุน เพราะยังมีภาพของสินค้าคงเหลือของทั้งจีนและสหรัฐในกลุ่มรถยนต์ และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มองจีดีพีไทยปีนี้ที่กว่า 2 % กว่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ 3-4  % เพราะการท่องเที่ยวจะกลับมาปกติเดือนในเดือน ม.ค. ปี 2566 เป็นต้นไป จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องช่วยเหลือยังต้องต่อเนื่องสูง

 

สิ่งที่ต้องจับตา 2 ประเด็นหลัก 1.การเมืองระหว่างประเทศที่มีรายละเอียดและความซ้ำซ้อน การมาของโจ ไบเดนถือเป็นผลบวกต่อภาวะการค้าโลก ซึ่งดีกับหุ้นวัฎจักร หุ้นที่มีมูลค่า Value Stock และหุ้นการเงินที่ตอบสนองเชิงบวก แต่อย่างไรก็ต้องติดตามคือ การกีดกันที่ไม่ใช่ทางการค้า เพราะจะมีผลต่อการดำเนินงานเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะฝั่งเทคโนโลยีที่มีการกีดกัน เช่น  5G อย่างกรณีหัวเว่ย รวมถึงการที่จีนออกมีแผนงาน 5 ปีที่ชัดเจนแล้วว่า จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในฝั่งอิเล็กทรอนิกส์ และ  2.ความเสี่ยงเร่งตัวของเงินเฟ้อ เพราะตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยที่ปกติหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง การตอบสนองนักลงทุนของตลาดจะเป็นไปทางลบ โดยรวมตลาดหุ้นปีนี้ยังมองเป็นบวก การกระตุ้นนโยบายการคลังยังมาแรง ความเสี่ยงน่าจะเกิดขึ้นปี 2565 มากกว่า รวมถึงประเด็นการถอน QE ที่เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นปีหน้ามากกว่า แต่ต้องจับตาตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะปกติตลาดหุ้นจะมีการส่งสัญญาณล่วงหน้า

 

การลงทุนเน้นไปที่หุ้น ตั้งแต่หุ้นตามวัฎจักร หุ้นแบงก์ หุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรับตัวดีตามการเติบโตของโลก การฟื้นตัวของตลาดหุ้นเกิดใหม่จะใกล้เคียงกับตลาดที่พัฒนาแล้ว แต่ตลาดเกิดใหม่จะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และเลือกการลงทุนต่างประเทศมากกว่าหุ้นไทย โดยมีมุมมองเป็นลบกับ Fixed income และเลือกลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น เช่น น้ำมัน รวมถึงทองคำที่เป็นสินทรัพย์ที่เล่นได้ทุกวัฎจักร เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

 

แนะนำหุ้น 7 ธีม คือหุ้นการเงินกลับมาตามเศรษฐกิจรอบนี้ แนะนำ KTB หุ้น BLA ที่ได้ประโยชน์จากการชันตัวของ Yiled Curve ที่ระยะหลังราคาลงลงต่อเนื่องมา 4-5 ปี หุ้นกลุ่มซื้อหนี้เสียแนะนำ BAM ที่ราคาหุ้นขึ้นน้อยกว่าตัวอื่น พร้อมคาดปีนี้กำไรฟื้นตัว 110 % กลุ่มที่มีการบริหารต้นทุนได้ดี BDMS CPN MINT หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กลุ่มปิโตรเคมี PTTGC และกลุ่มเดินเรือ PSL ที่ขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มพลังงานสะอาดเทรนด์ที่โจ ไบเดน สนับสนุน อย่างหุ้นโรงไฟฟ้า GPSC และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง DOHOME เพราะการใช้ในน้ำมันในต่างจังหวัดไม่ได้รับผลกระทบ

20210121_investment_outlook_05

สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่คิดจะซื้อหุ้นสักตัวในช่วงนี้ สิ่งสำคัญคือข้อมูลอย่างรอบด้าน 

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ได้ร่วมดำเนินโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน ให้มีความครอบคลุมหลักทรัพย์มากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลช่วยประกอบตัดสินใจลงทุน เห็นโอกาสชัดเจนขึ้น

 

สามารถติดตามบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวได้ที่ คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: