ก่อนเทรดหุ้นด้วย Robot ต้องรู้อะไร ?

โดย SET
5 Min Read
18 สิงหาคม 2565
12.78k views
Robot Trade
In Focus

สรุปสิ่งที่ควรรู้ก่อนเทรดหุ้นด้วยเครื่องมืออย่าง Robot Trade (การส่งคำสั่งแบบอัตโนมัติ) ในงาน Workshop สร้าง Robot เทรดหุ้นได้ใน 3 วัน Series 1

          ในโลกของการลงทุนที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเวลา ที่มีจำกัดเพียงแค่ 24 ชั่วโมง

หรือขีดจำกัดของคนไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมการลงทุนต่าง ๆ ได้มากมายพร้อม ๆ กันได้ นั่นจึงทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทุนที่เปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยและทลายทุกข้อจำกัดข้างต้น

 

วันนี้ เราขอสรุปสิ่งที่ควรรู้ก่อนเทรดหุ้นด้วยเครื่องมืออย่าง Robot Trade หรือ การส่งคำสั่งแบบอัตโนมัติ จากคุณเดชธนา ฟางสะอาด ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล. พาย จำกัด (มหาชน) ในงาน Workshop สร้าง Robot เทรดหุ้นได้ใน 3 วันมาฝากกัน

Robot Trade คืออะไร
          Robot Trade คืออะไร ? เหมาะกับนักลงทุนแบบไหน ?

Robot Trade เป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสะดวกสบายขึ้น ซึ่งทลายข้อจำกัดที่เกริ่นมาข้างต้น หลาย ๆ คนอาจมองว่าเครื่องมือตัวนี้เหมาะกับกลุ่มที่เป็น Trader เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วเหมาะสำหรับนักลงทุนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น

          - คนที่ไม่มีระเบียบวินัยในการลงทุน เช่น ไม่ยอมซื้อขายตามแผนที่ตั้งไว้ ไม่ได้เตรียมเงินสำหรับลงทุน หรืออาจจะเป็น คนที่ไม่สามารถปฎิบัติตามระเบียบวินัยในการลงทุนเพราะบางคนก็ไม่ได้อยากจะผิดวินัย ซึ่งปัจจัยนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการลงทุน

          - คนที่ไม่มีเวลาในการจัดพอร์ตการลงทุน เช่น คนที่ทำงานเป็นพนักงานประจำ มีความถนัดเชี่ยวชาญในสายงานที่ทำ แต่ไม่มีเวลาในการจัดพอร์ตลงทุนด้วยตัวเอง

          - คนที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ต้องการความรวดเร็ว แม่นยำ หรือ อาศัยการคำนวณจำนวนมาก เช่น ต้องการซื้อหุ้นทุกตัวที่อยู่ในดัชนี SET50 ภายใน 5 วินาที ต้องการ Scan หาหุ้นตามเงื่อนไขที่ต้องการแบบ Realtime หรือสรุปหุ้นที่บริษัทหลักทรัพย์แนะนำมากที่สุด

 

ซึ่ง Robot Trade จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของนักลงทุนมากขึ้น และในปัจจุบัน มีทางเลือกในการใช้ Robot มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องรู้ในเชิงเทคนิค แต่เราจะต้องรู้และเข้าใจวิธีการลงทุนอย่างไรให้ได้ดีและมีความสุข ตอบโจทย์ Lifestyle ของเรา

ตั้งค่า Robot Trade
ตั้งค่า Robot Trade

          ค่าสำคัญที่ใช้งานกับ Robot Trade

 

ในการเลือกใช้ Robot Trade ให้เปรียบเสมือนว่าเราเป็น CEO ของบริษัท และ Robot Trade เป็นเหมือนพนักงานที่ช่วยส่งคำสั่งซื้อขายให้กับเรา โดยตัวชี้วัดหรือ KPI ของพนักงานคนนี้ คือ ค่าต่าง ๆ ที่เกิดจากการ Backtest ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบระบบในสภาวะตลาดย้อนหลัง ว่าทำงานเป็นอย่างไรบ้าง มีจุดแข็ง - จุดอ่อนอะไรบ้างในระบบนี้ โดยแบ่งค่าต่าง ๆ ออกได้เป็นดังนี้

 

 1.กลุ่มกำไร - ขาดทุน แบ่งกลุ่มย่อย ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

1.1 ภาพรวมกำไร–ขาดทุน ของระบบ ได้แก่

                  - ผลตอบแทนสุทธิ (Total Net Profit)

                 - อัตราส่วนกำไรต่อขาดทุน (Reward/Risk)

ซึ่งค่าข้างต้น หากค่ายิ่งเยอะ ยิ่งดี บ่งชี้ว่าระบบสามารถทำกำไรได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีค่าน้อย จะต้องทำการสอบถามสาเหตุที่เกิดขึ้นกับทางเจ้าของระบบว่าเกิดจากอะไร ซึ่งหากเจ้าของระบบไม่สามารถตอบข้อสงสัยนี้ได้ ให้เราตั้งข้อสงสัยไว้เลยว่า ถ้าหากนำไปใช้ในสถานการณ์จริง ระบบ Robot Trade นี้ จะสามารถทำกำไรให้กับเราได้อย่างไร

 

1.2 กำไร–ขาดทุนมากที่สุดที่เกิดขึ้นใน 1 ไม้ ได้แก่

                  - กำไรมากที่สุด (Largest Profit Trade)

                  - ขาดทุนมากที่สุด (Largest Loss Trade)

 

1.3 กำไร–ขาดทุนเฉลี่ยต่อไม้ ได้แก่

                 – กำไรเฉลี่ยต่อไม้ (Average Profit Trade)

                 - ขาดทุนเฉลี่ยต่อไม้ (Average Loss Trade)

 

ซึ่ง 2 กลุ่มดังกล่าว ใช้ในการบริหารหรือจัดสรรเงินในการเพิ่ม Robot Trade ให้ลงทุนโดยใช้กลยุทธ์แบบเดียวกัน หรือรูปแบบอื่น ๆ ตามที่เราต้องการ

 

 2.กลุ่มผลขาดทุนสูงสุด (Drawdown)

 

เป็นกลุ่มที่ใช้ดูผลขาดทุนสูงสุดของระบบ ซึ่งเรานำมาใช้ในการวางกระแสเงินสด (Cash Flow) เผื่อเข้าไปในระบบ กรณีที่มูลค่าพอร์ตลดลง ได้แก่

 - Absolute Drawdown ผลขาดทุนสูงสุดที่วัดจากเงินทุนเริ่มต้น กับจุดต่ำสุด

 - Relative Drawdown เป็นผลขาดทุนต่อเนื่องสูงสุด

 - Maximal Drawdown ผลขาดทุนสูงสุด โดยวัดจากผลต่างระหว่างจุดที่สูงสุดและจุดที่ต่ำสุด

 

 3.จำนวนครั้งในการเทรด

เป็นกลุ่มที่ใช้ในการดูว่าระบบมีประวัติแพ้ชนะอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

3.1 จำนวนการเทรด ได้แก่

                  - จำนวนการเทรดทั้งหมด (Total Trades)

                  - อัตราการชนะ (%) (Profit Trades)

                   - อัตราการแพ้ (%) (Loss Trades)

 

3.2 จำนวนครั้งในการเทรดชนะต่อเนื่อง

   - จำนวนครั้งที่มากที่สุดในการเทรดชนะต่อเนื่อง (Maximum Consecutive Wins)

   - จำนวนครั้งเฉลี่ยที่เทรดชนะต่อเนื่อง (Average Consecutive Wins)

 

3.3 จำนวนครั้งในการเทรดแพ้ต่อเนื่อง  

   - จำนวนครั้งที่มากที่สุดในการเทรดแพ้ต่อเนื่อง (Maximum Consecutive Losses)

   - จำนวนครั้งเฉลี่ยที่เทรดแพ้ต่อเนื่อง (Average Consecutive Losses)

 

ซึ่งหากจำนวนการเทรดชนะต่อเนื่องมีจำนวนครั้งที่ยิ่งมากก็ยิ่งดี แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีจำนวนครั้งในการแพ้ต่อเนื่อง จะต้องหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ระบบที่วางมีปัญหาหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ควรพิจารณา คือ จำนวนครั้งในการเทรด เนื่องการการเทรดแต่ละครั้ง จะต้องเสียค่าคอมฯ ยิ่งระบบมีการเทรดที่บ่อยเท่าไหร่ นั่นแปลว่าเราจะต้องเสียค่าคอมมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้กำไรเราลดลง

 

สร้าง Robot Trade ตามกลยุทธ์
eOpen Banner for investHow-01-01

          ข้อผิดพลาดของนักลงทุน เมื่อใช้งาน Robot Trade และ ข้อควรรู้ในการสร้าง Robot Trade ให้ได้ตามแผนที่วางไว้

จาก Concept Robot Trade ข้างต้น เป็นเพียง 1 ในเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน แต่ก็ยังสามารถเกิด ข้อผิดพลาดในการใช้งาน Robot Trade กับนักลงทุน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

 

 - เข้าใจว่าใช้ Robot Trade แล้วได้กำไรแน่ ๆ

 - ใส่เงินน้อย ก็สามารถทำกำไรได้ โดยความหมายใน Workshop นี้นั้นของการใส่เงินน้อยนั้น หมายถึงการที่เราไม่ได้เผื่อการทำ Money Management กรณีที่บางครั้งระบบอาจจะพบเกิด Drawdown เช่น วางแค่ IM ก็พอ และทำกำไรไปเรื่อย ๆ แต่ความจริงนั้น เราอาจจะขาดทุนก่อนจนไม่มีเงินมาเปิดสถานะครั้งใหม่ได้

 - ใช้งานในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวรุนแรง ผิดปกติ เช่น เหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปี เป็นต้น

 - มีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นบน Robot Trade เช่น นักพัฒนาไม่ได้ Design Robot ที่ดีพอ

 - ไม่ตรวจสอบการทำงานของ Robot Trade ย้อนหลัง

 

ซึ่งการใช้ Robot Trade มีข้อควรรู้เพื่อให้เราสามารถเทรดได้ตามแผนที่วางไว้ คือ

 - ศึกษาข้อจำกัดในการใช้ Robot Trade ของแต่ละ Platform ที่ Broker ใช้

 - ทำการทดสอบทั้ง Backtest และ Forward test เพื่อหาข้อบกพร่อง และข้อจำกัดเมื่อเจอสภาวะตลาดต่าง ๆ

 - ตรวจสอบ Robot Trade เดือนละ 1 ครั้ง หรือไตรมาสละ 1 ครั้ง

 

จากบทความข้างต้น Robot Trade เป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม เราควรศึกษาข้อมูลและวิธีใช้ ไม่ว่าจะเป็นค่าต่าง ๆ ในเบื้องต้น การนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องมือทางเทคนิค รวมไปถึงข้อผิดพลาดและข้อควรรู้ ซึ่งนั่นจะช่วยให้นักลงทุนสามารถต่อยอดการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เครื่องมือดังกล่าวยังเหมาะกับนักลงทุนทุกกลุ่ม ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมืออาชีพ ก็สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม

 

สำหรับใครที่ต้องการโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นไทยจาก Robot Trade ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบโบรกผู้ให้บริการได้ที่ คลิก

 

หากใครที่ต้องการฟังสัมมนา สามารถรับชม Workshop Robot Trade คืออะไร ? เหมาะกับนักลงทุนแบบไหน ? ฉบับเต็มลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลย หรือรับชมทาง Youtube  คลิก

ปุ่ม erc
ปุ่ม Algo
แท็กที่เกี่ยวข้อง: